
เคยสงสัยไหมว่าเจ้าแถบขาวดำบนสินค้าที่คุณถืออยู่สามารถบอกได้อย่างไรว่าสินค้าของคุณคืออะไร? เพียงแค่มีเจ้าแถบนี้ เราก็สามารถรู้ได้ถึงชื่อและราคาของสินค้าเลยหรือ? หรือว่าคุณจำได้ไหมเมื่อตอนที่มีคนมากมายต่างตื่นเต้นกับ ‘Easy Pass’ ในประเทศของเรา? เพราะว่าสิ่งนั้น เราไม่ต้องเสียเวลาต่อแถวจ่ายค่าทางด่วน เพียงแค่ขับรถไปให้ถูกตำแหน่ง เพียงไม่กี่วินาทีเงินของเราก็ถูกตัดไป สิ่งเหล่านี้คืออะไร แล้วมีอะไรอีกบ้าง พวกมันทำงานอย่างไร วันนี้ ผมจะมาแบ่งปันเรื่องราวที่จะทำให้คุณเข้าใจง่ายขึ้น! 😊
บาร์โค้ด (Barcode) 🙋♀️
น้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง ขนมกรุบกรอบหนึ่งถุง และไข่ไก่แพคสี่ฟอง ผมวางตะกร้าสีส้มสดใสลงบนเคาน์เตอร์ น้องพนักงานยิ้มให้พร้อมกับหยิบสินค้าทีละชิ้นมาสแกนด้วยแสงสีแดงและเสียงบี๊บสามครั้ง
“หกสิบห้าบาทค่ะ รับขนมปังเพิ่มด้วยมั้ยคะ มาใหม่ๆเลยนะคะ” – น้องพนักงานแจ้งราคาพร้อมชักชวนให้ลองของใหม่
น้องเค้ารู้ได้อย่างไรว่าของสามชิ้นนี้ราคารวม 65 บาท? คำตอบคือตัวน้องเค้าเองไม่รู้หรอกครับแต่เค้าสามารถหาคำตอบนี้ได้จากระบบ การสแกนบาร์โค๊ด (Barcode) เป็นการระบุตัวตนของสินค้าแต่ละชิ้นด้วยการยิงแสงเลเซอร์ไปที่แถบขาว-ดำที่ติดอยู่บนสินค้า ด้วยการตรวจสอบระดับของแสงที่สะท้อนกลับมาเครื่องอ่านจะสามารถแปลข้อมูลนั้นเป็นตัวเลขซึ่งเป็นรหัสเฉพาะตัวของสินค้าแต่ละชิ้นได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
เมื่อเสียงบิ๊บแรกดังขึ้น เครื่องอ่านจับตัวเลขได้ว่า 8 850653 192490 ซึ่งในระบบรายงานกลับมาบนหน้าจอว่ามันคือไข่ไก่แพคสี่ฟองราคา 33 บาท เป็นต้น
❓รู้หรือไม่ว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ขายในห้างโมเดิร์นเทรดและร้านสะดวกซื้อจะมีรหัสบาร์โค๊ดเดียวกันเสมอ?
ไข่ไก่สเปคเดียวกับเป๊ะๆ (สี่ฟอง เกรดเอ) ทุกกล่องใช้รหัส 8 850653 192490 … น้องๆพนักงานเลยมีเครื่องทุนแรงเมื่อเห็นลูกค้าซื้อสินค้าแบบเดียวกัน 10 ชิ้นน้องเค้าไม่ต้องสแกน 10 ครั้งแต่แค่ครั้งเดียวแล้วพิมพ์เลข 10 ในระบบให้มันคูณตัวเลขให้ได้เลยนั่นเอง
คิวอาร์โค้ด (QR Code) 🙋♀️
ผมเดินออกจากร้านสะดวกซื้อพร้อมของกินเต็มมือมาได้ไม่กี่ก้าวก็เลี้ยวขวับเข้าร้านกาแฟเปิดใหม่
“อเมริกาโน่ไม่หวานเลยครับ” – ผมสั่งเมนูที่กินประจำ (จากร้านอื่น)
“ได้ค่ะ คุณลูกค้าเป็นสมาชิกกับทางร้านรึยังคะ? สมัครวันนี้ได้ลด 50% เลย สแกนคิวอาร์โค๊ดได้เลยค่ะ” – น้องบาริสต้าแนะนำด้วยน้ำเสียงเชื้อเชิญแบบเต็มที่พร้อมกับยื่นป้ายโฆษณาตั้งโต๊ะเล็กๆมาให้ผม
ผมหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา เปิดเมนูกล้อง แล้วเล็งเป้าไปที่ป้ายสี่เหลี่ยมจัตุรัสขาวๆดำๆ ไม่ถึงหนึ่งวินาทีผมก็เข้ามาที่หน้าเวปสมัครสมาชิกของร้านกาแฟอย่างง่ายดาย
ในเมื่อมันก็เป็นการสแกนเหมือนกัน ทำไมถึงไม่ใช้บาร์โค๊ดธรรมดาแต่ต้องเป็นคิวอาร์ โค๊ด (QR code) ละ? คำตอบคือความจุของข้อมูลครับ ข้อจำกัดของบาร์โค๊ดคือมันใช้งานได้กับตัวเลขเท่านั้นแต่คิวอาร์ โค๊ดสามารถใส่ตัวอักษรลงไปได้ด้วย หมายความว่าเมื่อเราถอดรหัสของช่องขาวๆดำๆในสี่เหลี่ยมเล็กๆนั้นออกมาแล้ว เราจะได้ข้อมูลที่ใช้งานได้ทันที เช่น เวปไซต์ของร้านกาแฟ, สาขาของร้านกาแฟที่ผมใช้บริการ, โปรโมชั่นของบัตรเครดิต, แผนที่บนกูเกิ้ลแมพส์, ไอดีของไลน์, และอื่นๆอีกมาก
ในกรณีนี้ผมเข้าถึงหน้าสมัครสมาชิกของร้านกาแฟผ่านทางคิวอาร์ โค๊ดโดยไม่ต้องพิมพ์ลิ้งค์ของเวปไซต์เองซึ่งก็เป็นการอำนวยความสะดวกที่ดีมาก
❓รู้หรือไม่ว่าคิวอาร์ โค๊ดมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ทูดี บาร์โค๊ด” (2D Barcode / 2 Dimensional Barcode) หรือบาร์โค๊ดสองมิติ?
เพราะในขณะที่บาร์โค๊ดธรรมดาอ่านได้ทางเดียวคือแนวขวาง (ซ้ายไปขวาเท่านั้น) แต่คิวอาร์ โค๊ดอ่านได้ทั้งแนวขวางและขึ้นลง ข้อดีของมันก็คือเราสแกนคิวอาร์ โค๊ดได้หลายทิศทาง ด้านตรงก็ได้ ด้านข้างก็ได้ กลับหัวก็ยังไหว
อาร์เอฟไอดี (RFID: Radio Frequency Identification) 🙋♀️
หลังจากเดินทอดน่องและนั่งทำงานพร้อมจิบกาแฟอย่างสบายใจได้สักพักผมก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่าเที่ยงนี้มีนัดกินข้าวกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานหลายปี … อีกฝากหนึ่งของกรุงเทพ ผมเก็บข้าวของลงกระเป๋าแล้วรีบวิ่งไปที่รถอย่างรวดเร็ว
“ไม่ทันแน่นอน ถ้าไม่ขึ้นทางด่วน” – ผมบอกตัวเองแบบเซ็งๆ
ก็ตามนั้นครับ แต่ขึ้นทางด่วนในเวลาแบบนี้ก็มีความเสี่ยงรถติดอยู่เหมือนกัน โชคดีที่ผมไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงินค่าผ่านทางที่ด่านเพราะผมวิ่งเลนขวาผ่านตลอดได้เลย ฉิว
ผมต้องจ่ายค่าผ่านทางมั้ย? ต้องจ่ายครับ แล้วผมจ่ายทางไหนละ? ก็ใช้บัตรเอ็ม-พาส (M-Pass) ครับ … แล้วใช้อย่างไร? ก็ใช้ผ่านเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี (Ration Frequency Identification – RFID) ครับ
กระบวนการเป็นแบบนี้ ถ้าสังเกตกันดูที่ช่องผ่านทางเอ็ม-พาสบนทางด่วนหรือมอเตอร์เวย์เราจะเห็นว่ามีกล่องสี่เหลี่ยมสีขาวถูกติดตั้งให้ห้อยลงมาจากเพดานหลังคา มันคือกล่องที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณคลื่นวิทยุในย่านอาร์เอฟไอดีออกมา เมื่อคลื่นวิทยุนี้มากระทบกับบัตรเอ็ม-พาส (หรือเรียกอีกอย่างว่าแท็คเอ็ม-พาสก็ได้) ที่อยู่หน้ากระจกรถ บัตรก็จะส่งหมายเลขของตัวเองกลับไปให้กล่องนั้นเพื่อให้ระบบประมวลผลด้วยการยืนยันตัวตนของรถ ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัตร ตัดยอดเงินในบัตร รวมถึงสั่งให้ไม้กั้นเปิดออก
รถทุกคันที่วิ่งผ่านช่องขวาสุดจะไม่ต้องหยุดรถครับ ด้วยความเร็วระดับหนึ่ง (ไม่ซิ่งมาก) กล่องและบัตรจะทำงานร่วมกันได้จากระยะไกล (5–20 เมตร) เพื่อยกไม้กั้นให้รถผ่านไปอย่างคล่องตัว
กรณีนี้ใช้บาร์โค๊ดหรือคิวอาร์ โค๊ดไม่ได้หรอ? ถ้าตอบแบบซื่อๆในเชิงเทคนิคก็ใช้ได้นะครับแต่สุดท้ายจะมีประโยชน์อะไรถ้าต้องมาเข้าคิวเรียงแถวกันสแกนบัตรเพราะทั้งบาร์โค๊ดและคิวอาร์ โค๊ดไม่สามารถอ่านหรือสแกนได้จากระยะไกล อาร์เอฟไอดีจึงได้เปรียบมากที่จุดนี้ครับ … ด้วยการอ่านและระบุตัวตนได้จากระยะไกล
❓รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วเทคโนโลยีที่เป็นต้นกำเนิดของอาร์เอฟไอดี (RFID) ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางการทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อฝ่ายพันธมิตรนำโดยสหราชอาณาจักรต้องการตรวจสอบว่าเครื่องบินที่บินกลับเข้ามาที่ฐานทัพนั้นเป็นเครื่องบินของตัวเองและไม่ใช่เครื่องบินจากฝ่ายอักษะที่นำทัพโดยประเทศเยอรมนี เครื่องส่งสัญญาณวิทยุที่ถูกติดตั้งอยู่ในเครื่องบินทุกเครื่องจะส่งสัญญาณคลื่นความถี่เดียวกันลงมาที่ฐาน … และนั่นแหละวิธีการระบุว่าเครื่องบินนี้มาดีหรือมาร้าย
เอ็นเอฟซี (NFC: Near-field communication) 🙋♀️
“ซอรี่ๆ มาสาย” – ผมวิ่งหอบแฮ่กๆมาถึงร้านอาหารที่นัดไว้กับเพื่อน สายไป 20 นาทีครับ
“มื้อนี้เราเลี้ยงเอง” – ผมขอไถ่โทษด้วยการเป็นเจ้ามือ
เป็นอาหารญี่ปุ่นมื้อที่อร่อยและออกรสออกชาติมาก กับเพื่อนที่รู้ใจแต่ไม่ได้เจอกันนาน
“ปะๆ เดี๋ยวไปเม้าท์ต่อร้านกาแฟกัน” – ผมคว้าเป้และหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา
“แปดร้อยยี่สิบแปดบาทครับ” – น้องพนักงานแจ้งราคา (แพงจริง)
ผมหยิบโทรศัพท์มือถือออกมา (แทนที่จะเป็นกระเป๋าสตางค์) สแกนลายนิ้วมือ แล้วทาบด้านหลังของมันลงบนเครื่องอ่านหน้าตาแปลกๆบนเคาน์เตอร์ชำระเงิน
“บี๊บ” – เสียงสวรรค์และเงิน 828 บาทก็ถูกตัดออกจากบัญชีบัตรเครดิตของผมเรียบร้อย
ไม่ใช่เงินสด ไม่ใช่บัตรเครดิต แล้วผมจ่ายเงินด้วยอะไร? ด้วยเทคโนโลยีเอ็นเอฟซี (Near-Field Communication – NFC) ครับ มันเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์สองชิ้นคุยกันได้ผ่านทางคลื่นวิทยุเมื่ออยู่ใกล้กัน (ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) เอ็นเอฟซีถูกใช้ในหลายรูปแบบ เช่น บัตรผ่านเข้าออกสำนักงานหรือที่อยู่อาศัย การเชื่อมต่อระหว่างโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ต่อพ่วงอย่างลำโพง รวมถึงการจ่ายเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการแบบนี้ด้วย
ในวินาทีที่โทรศัพท์มือถือของผมที่มีเอ็นเอฟซี ชิฟ (NFC Chip) วางอยู่ใกล้เครื่องอ่านที่รองรับเอ็นเอฟซี อุปกรณ์สองชิ้นนี้จะเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เข้ารหัสไว้เพื่อระบุตัวตนและทำการจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว … เร็วกว่าการรูดบัตรเครดิตหรือแม้แต่จ่ายเงินสดด้วยซ้ำ
❓รู้หรือไม่ว่าโนเกีย 6131 คือโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในโลกที่ใส่เทคโนโลยีเอ็นเอฟซีเข้าไปเมื่อปี 2006 (ดูจากหน้าตาเครื่องแล้วคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจะเอาเอ็นเอฟซีไปทำอะไรได้)
การประยุกต์ใช้ของจริงเริ่มต้นเมื่อ กูเกิ้ล เน็กซัส เอส (Google Nexus S) ได้กลายเป็นโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์รุ่นแรกที่ซัพพอร์ตเอ็นเอฟซี … ตั้งห้าปีหลังจากโนเกีย
บีค่อน (Beacon) 🙋♀️
ผมตั้งใจจบวันนี้ด้วยการเดินช้อปปิ้งต่ออีกสักหน่อย อยากได้เสื้อเชิ้ตตัวใหม่อยู่พอดี ผมไม่รอช้าเดินมุ่งหน้าเข้าร้านประจำ
“บี๊บ” – ผมได้ยินเสียงโทรศัพท์มือถือดังขึ้น อ่อ มันคือข้อความต้อนรับผมเข้าร้านนั่นเอง
ผมเดินผ่านโซนด้านหน้ามาถึงตรงกลางของร้าน
“บี๊บ” – อีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้เป็นข้อความอธิบายสินค้าที่วางอยู่บนเชล์ฟตรงหน้าผมเลย ทางร้านรู้ได้อย่างไรว่าผมยืนอยู่ตรงไหน?
ผมยืนเลือกเสื้อเชิ๊ตอยู่ประมาณเกือบห้านาที
“บี๊บ” – อีกแล้ว ครั้งนี้เป็นข้อเสนอซื้อหนึ่งแถมหนึ่งสำหรับเสื้อเชิ๊ตราคา 1,290 บาทขึ้นไป มีพนักงานแอบมองพฤติกรรมผมอยู่รึเปล่า?
ไม่ใช่หรอกครับ ผมแค่อยู่ในร้านเสื้อผ้าที่ทันสมัยไปหน่อยแค่นั้น ด้วยเทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy – BLE) การติดตามและระบุตำแหน่งของสิ่งต่างๆภายในอาคารจึงเป็นเรื่องไม่ยากเกินไป
ในกรณีนี้ร้านนี้มีการติดตั้งอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆที่เรียกว่า บีค่อน (Beacon) ซึ่งทำหน้าที่ส่งข้อมูลของตัวเองผ่านสัญญาณบลูทูธพลังงานต่ำออกมาเรื่อยๆ และเพราะโทรศัพท์มือถือของผมก็เปิดใช้บลูทูธอยู่พอดีมันจึงจับสัญญาณจากบีค่อนเหล่านี้ได้ ข้อมูลเหล่านี้จึงถูกนำมาสร้างเป็นเรื่องราวได้อย่างน่าสนใจ เช่น
เมื่อผมเดินเข้าใกล้หน้าร้านและโทรศัพท์มือถือของผมจับสัญญาณไอดีของบีค่อนหมายเลขหนึ่งได้ ระบบจึงส่งข้อความยินดีต้อนรับมาให้ผม
เมื่อผมเดินผ่านโซนด้านหน้าแล้วไปหยุดอยู่หน้าเชล์ฟเสื้อเชิ๊ต โทรศัพท์มือถือของผมก็จับสัญญาณบีค่อนหมายเลขสองได้ ข้อความอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมของเสื้อบนเชล์ฟนี้จึงถูกส่งมาให้ผมแบบทันทีทันใด
และเพราะผมยืนอยู่ที่เดิมนานจนโทรศัพท์มือถือของผมจับสัญญาณบีค่อนหมายเลขสองซ้ำๆกันหลายครั้งนานหลายนาที ระบบจึงส่งข้อเสนอซื้อหนึ่งแถมหนึ่งมาให้เพื่อจูงใจให้ผมตัดสินใจซื้อโดยเร็ว เป็นต้น
ด้วยความเห็นแก่ของแถม ผมเลยหิ้วเสื้อเชิ๊ตกลับบ้านไปสี่ตัวด้วยความสบายใจ
หลังจากอ่านจบแล้วคุณคิดว่ายังไงกันบ้าง บทความของเราช่วยให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีจากคลื่นวิทยุที่ช่วยระบุตัวตนของสิ่งของมากขึ้นหรือไม่? หากคุณชื่นชอบบทความแบบนี้ อย่างลืมแวะเข้ามาและติดตามเพื่อรับข้อมูลสนุกๆได้จากพวกเรามิวแทรค! 🤗😁